วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษา

พระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษา

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริด้านการศึกษาให้แก่นักการศึกษา สถาบันการศึกษา ส่วนราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนบุคคลกลุ่มต่างๆอย่างกว้างขวางและสม่ำเสมอ สาระของพระราชดำริที่ปรากฏเป็นเอกสารครอบคลุมเนื้อหาที่กว้างขวางและลึกซึ้ง สมควรที่พสกนิกรทั้งปวงจะได้พยายามศึกษาให้ถึงแก่นแท้แห่งสาระของพระราชดำริเพื่อจะได้น้อมนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สมดังพระราชปณิธานที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริไว้ให้เป็นสมบัติของประชาชนและประเทศชาติตลอดไป

บทความนี้พยายามที่จะเข้าใจแนวพระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษาบนข้อจำกัดของการรวบรวมพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ดังนั้นบทความนี้จึงยังคงห่างไกลจากความสมบูรณ์ของแนวพระราชดำริ อย่างไรก็ตามด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ จึงได้พยายามเชิญแนวพระราชดำริที่เห็นว่าสำคัญนี้ขึ้นมาแสดงให้ปรากฏ เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสาธารณชนทั่วไปที่จะได้พยายามศึกษาแนวพระราชดำริด้านการศึกษาต่อไปอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งหวังว่าองค์ความรู้แห่งแนวพระราชดำรินี้จะได้สะสมและเข้าใกล้ "ความสมบูรณ์และบริบูรณ์มากขึ้น"

บทความนี้ตั้งคำถามสำคัญ ๓ ประการเพื่อพยายามเข้าใจแนวพระราชดำริด้านการศึกษาคือ ๑) การศึกษาคืออะไรและขอบเขตของการศึกษาอยู่ที่ไหน ๒) หลักการ และวิธีการศึกษามีลักษณะอย่างไรและ ๓) การศึกษามีจุดหมายอะไร ซึ่งจะได้นำเสนอผลแห่งความพยายามศึกษาแนวพระราชดำริด้านการศึกษาในหัวข้อต่อไปนี้



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับความหมายของการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ไว้ดังนี้

"การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว"

จะเห็นว่าการศึกษามีความหมายใน ๒ มิติ คือมิติแรกเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ และมิติที่สองเป็นการพัฒนาบุคคลผู้ศึกษาเองให้มีความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรม ซึ่งทั้งสองมิติแห่งความหมายนี้แยกกันไม่ได้ ตรงกันข้ามจะต้องควบคู่กันไปเพราะเมื่อบุคคลหนึ่งมีความรู้ แต่มีความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรม ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมจะนำไปสู่การใช้ความรู้ในทางที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อทั้งตนเองและส่วนรวมได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งในเรื่องนี้มีความหมายตอนหนึ่งว่า

"ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป ถ้าใช้ไฟนี้ส่องไปในทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ระวังไฟนั้น อาจเผาผลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ความรู้ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้" (๒๘ มกราคม ๒๕๐๕)

การศึกษาในความหมายนี้สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จบหรือสิ้นสุดในตัวเอง แต่การศึกษาจะต้องนำไปสนองต่อเป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายบางประการ โดยเฉพาะต่อสังคมส่วนรวม (ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป) นั่นหมายความว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนำพาให้บุคคลและสังคมไปสู่จุดมุ่งหมายที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องรวมไปถึงการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมได้จึงจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาในความหมายที่ครบถ้วน สมดังที่พระราชกระแสที่ว่า

"การที่มีการศึกษาสมบูรณ์แล้วนี้ ทำให้แต่ละคนหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์และเป็นความเจริญวัฒนาแก่บ้านเมืองและส่วนรวม" (๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖)

พระองค์ทรงชี้ถึงปรัชญาการศึกษาที่น่าสนใจยิ่งคือ เมื่อบุคคลหนึ่งมีการศึกษาที่สมบูรณ์ ผลแห่งการมีการศึกษาสมบูรณ์นี้จะกำหนดให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้และสติปัญญาของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลอื่นและสังคมส่วนรวมโดยไม่ต้องมีบุคคลใดมาร้องขอหรือเรียกร้องให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมหรือประเทศชาติแต่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมหรือประเทศชาติของผู้มีการศึกษาที่สมบูรณ์เกิดขึ้นแต่ภายในจากจิตสำนึกแห่งสภาวะของการมีความรู้และสติปัญญาสมบูรณ์ โดยไม่ต้องมีสิ่งจูงใจหรือข้อแลกเปลี่ยน เช่นประโยชน์ส่วนบุคคลหรือรางวัลใดๆมาเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่มีการศึกษาสมบูรณ์ปฏิบัติหน้าที่อันควรจะกระทำ ดังนั้นการศึกษาสมบูรณ์จึงมีความครบถ้วนในตัวเองทั้งองค์ความรู้และการใช้ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ในความหมายเช่นที่กล่าวนี้การศึกษาจึงมีความหมายในเชิงสร้างสรรค์และเป็นผลดีเท่านั้น ถ้าจะกล่าวในเชิงกลับกันอาจกล่าวได้ว่าการศึกษาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวบุคคลหรือส่วนรวมนั้นไม่ใช่การศึกษาที่สมบูรณ์ และการศึกษาที่สมบูรณ์นี้เป็นการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งหวังให้เกิดขึ้นในพสกนิกรและประเทศชาติของพระองค์

การศึกษาที่จะนำไปสู่การศึกษาสมบูรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ว่าต้องประกอบด้วย การศึกษาทางวิชาการและการศึกษาทางธรรม ทั้งนี้เพื่อการศึกษาทางธรรมคอยกำกับการศึกษาทางวิชาการให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องและสนองตอบต่อเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังพระราชดำรัสมีความตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"การแบ่งการศึกษาเป็นสองอย่าง คือการศึกษาวิชาการอย่างหนึ่ง วิชาการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่บ้านเมือง ถ้ามาใช้ต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ขั้นที่สองก็คือ ความรู้ที่จะเรียกได้ว่าธรรม คือรู้ในการวางตัว ประพฤติและคิด วิธีคิด วิธีที่จะใช้สมองมาทำเป็นประโยชน์แก่ตัว สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงวิธีประพฤติปฏิบัติ คนที่ศึกษาในทางวิชาการและศึกษาในทางธรรมก็ต้องมีปัญญา แต่ผู้ใช้ความรู้ในทางวิชาการทางเดียวและไม่ใช้ความรู้ในทางธรรม จะนับว่าเป็นปัญญาชนมิได้" (๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๓)

นั่นหมายความว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความรู้ ทั้งความรู้ในทางวิชาการและความรู้ในทางธรรม ด้วยความรู้ทั้งสองด้านนี้จะก่อให้เกิด "ปัญญา" ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายความหมายของปัญญาว่า

"ปัญญาแปลอย่างหนึ่งคือ ความรู้ทุกอย่างทั้งที่เล่าเรียนจดจำมา ที่พิจารณาใคร่ครวญคิดเห็นขึ้นมา และที่ได้ฝึกฝนอบรมให้คล่องแคล่วชำนาญขึ้นมา เมื่อมีความรู้ความชัดเจนชำนาญในวิชาต่างๆดังว่า จะยังผลให้เกิดความเฉลียวฉลาดแต่ประการสำคัญนั้นคือความรู้ที่ผนวกกับความเฉลียวฉลาดนั้นจะรวมกันเป็นความสามรถพิเศษขึ้น คือความรู้จริง รู้แจ้งชัด รู้ตลอด ซึ่งจะเป็นผลต่อไปเป็นความรู้เท่าทัน เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็จะเห็นแนวทางและวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นอุปสรรคปัญหา และความเสื่อม ความล้มเหลวทั้งปวงได้ แล้วดำเนินไปตามทางที่ถูกต้องเหมาะสมจนบรรลุความสำเร็จ" (๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๑)

ปัญญาในความหมายนี้ ทรงชี้ว่าเป็นสภาวะแห่งการรู้จริง การรู้แจ้งชัดและการรู้ตลอด ซึ่งสภาวะแห่งการรู้ทั้งสามนี้จะนำไปสู่การรู้เท่าทันและปัญญาในความหมายดังกล่าวนี้จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคและนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดง ถึงความหมายของการศึกษาที่เป็นปัจจัย ก่อให้เกิดความรู้และสภาวะแห่งการรู้จริงและรู้ทุกอย่าง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญญาและด้วยปัญญาจะนำไปสู่ความสำเร็จ กล่าวให้ชัดเจนคือ การศึกษา ความรู้และปัญญาเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้ การจะเข้าใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้สมบูรณ์จะต้องเข้าใจทั้งสามเรื่องอย่างเชื่อมโยงกัน

การศึกษาในความหมายนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่าเป็นเรื่องของทุกคนตั้งแต่เกิดและไมีมีที่สิ้นสุดตลอดชีวิตของคน ทรงแสดงขอบเขตการศึกษาในชีวิตคนกับบรรดา นักศึกษามหาวิทยาลัยไว้ดังนี้

"การศึกษานั้นเป็นเรื่องของทุกคน และไม่ใช่ว่าเฉพาะในระยะหนึ่ง เป็นหน้าที่โดยตรงในระยะเดียวไม่ใช่อย่างนั้น ตั้งแต่เกิดมาก็ต้องศึกษาเติบโตขึ้นมาก็ต้องศึกษา จนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่าอุดมศึกษา อย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังศึกษาอยู่ หมายความว่าการศึกษาที่ครบถ้วน ที่อุดม ที่บริบูรณ์ แต่ต่อไปเมื่อออกไปทำหน้าที่การงานก็ต้องศึกษาต่อไปเหมือนกัน มิฉะนั้นคนเราก็อยู่ไม่ได้ แม้จบปริญญาเอกแล้วก็ต้องศึกษาต่อไปตลอด หมายความว่า การศึกษาไม่มีสิ้นสุด" (๒๐ เมษายน ๒๕๒๑)

พระราชดำรัสองค์นี้ชี้ถึงขอบเขตการศึกษาที่ครอบคลุมตลอดชีวิตของบุคคล ตั้งแต่เกิดต่อเนื่องกันจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เสมือนการศึกษากับชีวิตเป็นของคู่กัน นั่นหมายความว่าขอบเขตของการศึกษาครอบคลุมถึงทุกเรื่องและทุกเวลาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์อาจกล่าวอีกนับหนึ่งได้ว่าการศึกษามิได้มีขอบเขตเฉพาะเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง

ด้วยความหมายและขอบเขตของการศึกษาตามแนวพระราชดำรินี้ จะเห็นว่าการศึกษาเป็นหัวใจของชีวิตมนุษย์ และการศึกษาเป็นเครื่องนำทางที่สำคัญของมนุษย์ให้ไปสู่การพัฒนาคุณภาพตนเอง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม กล่าวให้ชัดเจนโดยสรุปคือความหมายของการศึกษาจะต้องกำกับด้วยจุดหมายของการศึกษาด้วย กล่าวคือเป็นการศึกษาที่สร้างสรรค์และเป็นผลดีแก่บุคคลและส่วนรวมเท่านั้น




การศึกษาในความหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำไปสู่คำถามต่อไปคือ พระองค์พระราชทานหลักการและวิธีการศึกษาไว้อย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ตามความหมายของการศึกษาดังกล่าวในหัวข้อข้างต้น ทรงกล่าวถึงหลักการศึกษาที่ให้ความรู้ความสามารถและนำไปสู่การทำให้ "ตัวเองครบเป็นคน" ว่า

"..หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ หลักของเหตุผล และจะต้องขัดเกลาตลอดเวลา มิฉะนั้นจะมีวิชาความรู้เท่าไรก็ตามก็ไม่สามารถนำไปเป็นประโยชน์แก่ตัวแก่ส่วนรวมได้…หลักของเหตุผลมีหลักการว่า ถ้ามีสิ่งใดที่เราต้องเผชิญ ต้องพบ ต้องมีเหตุผลทั้งสิ้น คำนี้มีสองคำ เหตุคือต้นของสิ่งที่เราเผชิญและผลเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เรา ถ้าเราเผชิญสิ่งใดและเราพิจารณาด้วยเหตุผล ต่อไปเราก็จะเผชิญสิ่งที่ถูกต้อง" (๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๙)

นั่นหมายความว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการค้นหาเหตุและผลของสิ่งต่างๆหรือปรากฎการณ์ต่างๆเมื่อสามารถค้นหาเหตุย่อมจะเข้าใจผลที่เกิดตามมา ความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลจึงเป็นหลักการสำคัญ ของการศึกษา ในทางกลับกันสิ่งใดที่ไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลได้ จึงถือว่าเรามีความรู้ในสิ่งนั้นยังไม่ได้ ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นกระบวนการของการค้นหาเหตุและผลของสิ่งต่างๆนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงวิธีการศึกษาหรือการเรียนรู้ไว้ดังนี้

"ลักษณะของการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้นมีอยู่สามลักษณะได้แก่ เรียนรู้ตามความคิดของผู้อื่นอย่างหนึ่ง เรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาของตนเองให้เห็นเหตุผลอย่างหนึ่ง กับเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝนจนประจักษ์ผลและเกิดความคล่องแคล่วชำนาญอีกอย่างหนึ่ง การเรียนรู้ทั้งสามลักษณะนี้ จำเป็นต้องกระทำไปด้วยกันให้สอดคล้อง และอุดหนุนส่งเสริมกันจึงจะช่วยให้เกิดความรู้จริงพร้อมทั้งความสามารถที่จะนำมาใช้ทำการต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพได้" (๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔)

การเรียนรู้ทั้งสามลักษณะคือการเรียนรู้ตามความคิดของผู้อื่น การเรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาด้วยตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝน เป็นวิธีการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเหตุและผลของเรื่องที่ศึกษา เริ่มจากการเรียนรู้จากผู้ที่มีความรู้ จากนั้นจึงนำความรู้นั้นมาขบคิดพิจารณาด้วยตนเองต่อไป ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มพูนความรู้ที่มากขึ้นหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจัดว่าเป็นคุณภาพของการเรียนรู้อีกระดับหนึ่ง การเรียนรู้ถึงขั้นนี้ยังไม่ถือว่าครบถ้วนเพราะยังเป็นความรู้ที่ยังไม่สามารถช่วยให้บุคคลนั้นสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติจนก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญที่จะนำความรู้ไปปฏิบัติได้

วิธีการเรียนรู้ตามนัยข้างต้นเป็นการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติซึ่งจะต้องครบบริบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไว้ดังนี้

"ผู้ไม่มีทฤษฎีเป็นผู้ไม่มีหลักความรู้ สู้ผู้มีทฤษฎีไม่ได้เพราะไม่มีความรู้เป็นทุนรอนสำหรับทำงาน แต่ผู้มีทฤษฎีที่ไม่หัดปฏิบัติหรือไม่ยอมปฏิบัตินั้นก็สู้นักทฤษฎีที่ปฏิบัติด้วยไม่ได้ เพราะนักทฤษฎีที่ไม่ยอมปฏิบัติทำให้ตัวเองพร้อมทั้งวิชาความรู้ทั้งหมดเป็นหมันไป ไม่ได้ประโยชน์ ไม่เป็นที่ต้องการของใคร ผู้มีความรู้ด้วย ใช้ความรู้ทำงานได้จริงๆจึงจะเป็นประโยชน์และเป็นที่ต้องการ" (๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๐)

พระราชดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า ทฤษฎีเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นกรอบหรือแนวทางของการคิดและการปฏิบัติ แต่ว่าความรู้เชิงทฤษฎีไม่สามารถเป็นหลักประกันของความสำเร็จในการปฏิบัติได้ เพราความรู้เชิงทฤษฎีและความรู้เชิงปฏิบัติเป็นความรู้คนละส่วนกัน (ถึงแม้จะสัมพันธ์กันก็ตาม) ฉะนั้นผู้ที่มีความรู้เชิงทฤษีจะต้องนำทฤษฎีไปทดลองปฏิบัติจนให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญ การฝึกฝนปฏิบัติจนเชี่ยวชาญนี้ช่วยให้เกิดความรู้อีกส่วนหนึ่งที่เสริมความรู้เชิงทฤษฎีให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่การปฏิบัติงานด้วยตนเอง ดังที่ได้อัญเชิญพระราชดำรัสมาแสดงก่อนหน้านี้แล้ว ทรงอธิบายถึงความสำคัญของการปฏิบัติว่า

"การมีความรู้ถนัดทฤษฎีประการเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ผู้ที่ฉลาดสามารถในหลักวิชาโดยปกติวิสัยจะได้แต่เพียงชี้นิ้วให้ผู้อื่นทำซึ่งเป็นการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจทำให้ผู้ใดเชื่อถือหรือเชื่อฟังอย่างสนิทใจได้ เหตุด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ชี้นิ้วเองจะรู้จริง ทำได้จริงหรือ ความสำเร็จทั้งสิ้นทำได้เพราะลงมือกระทำ" (๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๗)

จะเห็นว่าความรู้ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์จริง จะต้องเป็นความรู้ที่สามารถปฏิบัติได้ และที่สำคัญความรู้ที่สามารถปฏิบัติได้นี้ ต้องเกิดขึ้นจาก "ลงมือกระทำ" ด้วยตนเองเท่านั้น ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนอาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องหนึ่งจะต้องมีความรู้ถึงขั้นที่ตนเองสามารถปฏิบัติด้วยตนเองให้ปรากฏผลสำเร็จเพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงการมีความรู้จริงในเรื่องนั้นแก่บุคคลอื่น เมื่อมีความรู้ถึงขั้นนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสว่าบุคคลนั้นจะได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงจากผู้อื่นว่ามีความรู้จริงอีกทั้งจะยังเป็นความรู้ที่บุคคลอื่นจะเรียนรู้และปฏิบัติตามอย่างมีศรัทธา ความรู้ตามความหมายนี้ต่างจากความรู้เชิงทฤษฎีที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไปตามแนวพระราชดำรินี้ไม่ได้หมายความว่าความรู้เชิงทฤษฎีไม่มีความสำคัญ แต่พระองค์ทรงชี้ว่าทฤษฎีเพียงประการเดียวไม่เพียงพอต่อการศึกษา แต่การศึกษาจะต้องมุ่งสู่การนำทฤษฎี ไปสู่การปฏิบัติให้สำเร็จด้วย จึงจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาที่ครบสมบูรณ์

นอกจากนี้ทรงแสดงให้เข้าใจต่อไปอีกว่า การใช้ทฤษฎีให้เกิดผลในทางปฏิบัตินั้นอาจจะต้องใช้ทฤษฎีของหลายสาขาวิชาประกอบเข้าด้วยกัน เพราะปัญหาของการปฏิบัติที่ต้องการจะแก้ไขมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าขอบเขตของทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง ดังนั้นการนำทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นพระองค์ทรงอธิบายเรื่องนี้ว่า

"วิชาการทั้งปวงนั้นถึงจะมีประเภทมากมายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใดก็ต้องใช้ด้วยกัน หรือต้องนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันเสมอ อย่างกับอาหารที่เรารับประทาน กว่าจะสำเร็จขึ้นมาให้รับประทานได้ ต้องอาศัยวิชาประสมประสานกันหลายอย่างและต้องผ่านการปฏิบัติมากมายหลายอย่างหลายตอน ดังนั้นวิชาต่างๆมีความสัมพันธ์ถึงกันและมีอุปการะแก่กันทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศิลปศาสตร์ ไม่มีวิชาใดที่นำมาใช้ได้โดยลำพัง หรือเฉพาะอย่างได้เลย" (๓ สิงหาคม ๒๕๒๑)

นั่นหมายความว่าการนำวิชาการสาขาต่างๆเข้ามาประกอบกันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานได้สำเร็จเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังที่กล่าวกันว่าเป็นการเรียนและการใช้วิชาการในลักษณะ "สหวิทยาการ"(multidiscipline) "เพราะวิชาทั้งหลายเกี่ยวโยงถึงกันเป็นส่วนประกอบของกันและกัน เป็นปัจจัยอุดหนุนกันและกันอย่างแน่นแฟ้น" (๓ ตุลาคม ๒๕๑๘) ยิ่งไปกว่านี้ ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้วยการแยกแยะมิติของสหวิทยาการ ว่ายังเกี่ยวข้องระหว่าง "ความรู้ระหว่างบุคคล" อีกด้วยไม่ใช่เพียงเฉพาะ "ความรู้ระหว่างวิชา" ดังที่กล่าวแล้วเท่านั้น พระองค์ทรงชี้ถึงการใช้ความรู้เพื่อการปฏิบัติว่า

"ทุกคนมีความรู้ต้องใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะว่าถ้าความรู้นั้นร่วมมือใช้ในทางที่ถูกก็จะเกิดคุณอย่างมหาศาลทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ส่วนรวม ฉะนั้นแต่ละคนที่ได้เรียนในแขนงของตนก็ย่อมต้องปฏิบัติงานเพื่อตนเองและเพื่อส่วนรวมนั้นก็ต้องมีความเข้าใจระหว่างบุคคล ระหว่างวิชา (ดังนั้น) ในการปฏิบัติงานทุกด้าน การเตรียมตัวพร้อมการร่วมมือเป็นอันสำคัญอยู่เสมอ" (๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๕)

ความรู้ระหว่างวิชาและความรู้ระหว่างบุคคลเป็นแนวพระราชดำริที่ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อจะช่วยให้สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง ประการแรกความรู้ระหว่างวิชา เป็นความรู้ที่สามารถจะนำวิชาการแขนงต่างๆมาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกันเพื่อให้มีกรอบหรือแนวทางที่จะปฏิบัติงานหรือแก้ไขปัญหาในความเป็นจริงได้สำเร็จ ซึ่งความรู้นี้มิได้ปรากฏในสาขาวิชาใด หากแต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการนำความรู้จากหลายสาขาวิชาเข้ามาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในความเป็นจริง ประการที่สองความรู้ระหว่างบุคคล เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งแยกแยะได้เป็นสองด้าน กล่าวคือในด้านแรกเป็นความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกันในเรื่องที่เราต้องแก้ไขปัญหา ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลเหล่านั้น ด้วยความรู้นี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับบุคคลเหล่านั้นให้เอื้อประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาที่ต้องการได้ ในอีกด้านหนึ่งเป็นความรู้ของบุคคลต่างๆที่จะต้องนำมาใช้ร่วมกันเพื่อการแก้ไขปัญหา เพราะลำพังความรู้ของบุคคลเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ครบถ้วน จึงต้องอาศัยความรู้หลายสาขาวิชาที่มีอยู่ในบุคคลหลายคน กรณีเช่นนี้จำเป้นที่จะต้องจัดให้บุคคลที่มีความรู้แต่ละสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานเข้ามาร่วมงานตั้งแต่ต้น เช่นการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน จนถึงการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา การจะนำสาขาวิชาต่างๆที่ปรากฏในหลายบุคคลเข้ามาร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันจึงต้องอาศัย "ความรู้ระหว่างบุคคล" ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่ง

การเลือกใช้ทฤษฎีต่างๆ หรือการนำทฤษฎีสู่การปฏิบัติในลักษณะสหวิทยาการข้างต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางไว้ว่า

"ในการปฏิบัติงานใดๆผู้ปฏิบัติจะต้องทราบ ต้องเข่าใจแจ่มแจ้งถึงปัญหาและความรู้ทั้งปวงอันเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์อย่างทั่วถึง จึงจะสามารถนำทฤษฎีมาดัดแปลงใช้ให้ได้เหมาะกับ สภาพการณ์และสามารถจะเลือกแนวทางการปฏิบัติให้เกิดผลมากที่สุดได้" (๒๒ มกราคม ๒๕๑๗)

นั่นหมายความว่าการใช้สหวิทยาการให้เกิดผลจริง ผู้ใช้จะต้องมีความรู้ "แจ่มแจ้ง" ทั้งในเรื่องของวิชาการและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นการรู้จริงแจ่มแจ้งนี้จะช่วยให้เราสามารถนำความรู้ทางวิชาการและบุคคลเข้ามาประสมประสานกันได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ของปัญหาที่ต้องการแก้ไขได้ ตลอดจนสามารถเลือกแนวทางปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้อย่างเหมาะสม ฉะนั้น "การรู้จริงแจ่มแจ้ง" ในสิ่งที่ศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปตามแนวพระราชดำริ

การรู้จริงแจ่มแจ้งช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจ้เรื่องที่ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องปราศจากอคติและเข้าใจถึงแก่นของเหตุและผลของเรื่องนั้น สภาวะแห่งความเข้าใจที่กระจ่างชัดนี้ส่งผลให้สามารถปฏิบัติในเรื่องนั้นได้ดีและถูกต้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายเรื่องนี้ว่า

"การฝึกฝนและปลูกฝังความรู้จักเหตุผลความรู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยกว่าการใช้วิชาการ เพราะการรู้จักพิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผลให้รู้จักจำแนกสิ่งผิดชอบชั่วดีได้โดยกระจ่างย่อมทำให้มองบุคคล มองสิ่งต่างๆได้ลึกลงไปจนเห็นความจริง เมื่อได้มองเห็นความจริงแล้วก็จะสามารถใช้ความรู้และวิชาการ ปฏิบัติงานทุกอย่างได้ดีและถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น" (๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖)

การสามารถเข้าใจถึงความจริงของเรื่องที่ศึกษาเป็นเงื่อนไขของการปฏิบัติงานได้สำเร็จ และการเข้าใจถึงความเป็นจริงนี้จะต้องอาศัยความรู้ทั้งในสาขาวิชาต่างๆและ "ความรู้ระหว่างวิชา" ตลอดจน "ความรู้ระหว่างบุคคล" ดังที่กล่าวแล้ว ตลอดจนความรู้ทางธรรมที่คอยกำกับความประพฤติของคน ฉะนั้นจะเห็นว่าการรู้จริงตามแนวพระราชดำรินี้จึงมีความหมายที่ลึกซึ้ง

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการใช้ความรู้ลงสู่การปฏิบัติให้เกิดผล ฉะนั้นการปรับทฤษฎี (ที่รู้อย่างกระจ่างแล้ว) กับการปฏิบัติจะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พระองค์ทรงอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดว่า

"การเรียนรู้วิทยาการชั้นสูงต่างๆ เป็นประโยชน์เชิดชูตัว แต่ทั้งนี้บุคคลจะต้องพยายาม ควบคุมตัวมิให้ติดอยู่ในตำราหรือทฤษฎีมากเกินไป เพราะมิฉะนั้นเมื่อไปพบข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงานซึ่งไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกับตำราเข้า อาจก่อให้เกิดการสนเท่ห์ลังเลใจ ทำให้ทำงานไม่ได้หรืออาจทำให้เกิดอคติ เกิดความคิดที่ไม่ใช่ทั้งทฤษฎีทั้งไม่ใช่วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องขึ้นมากดดันชักนำให้ทำการไปอย่างผิดๆ.. ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ ทางที่ดีที่สุดจะต้องดำเนินงานในส่วนที่เห็นว่าถูกต้องดีแล้วต่อไป ไม่ปล่อยให้หยุดชะงักพร้อมกันไปนั้นควรจะได้รับพิจารณาปัญหาโดยเร่งด่วน หาทางปรับหลักวิชาให้เข้ากับปัญหาและประสานเข้ากับวิชาอื่นๆอันเกี่ยวข้องด้วย ให้เห็น ให้เข้าใจปัญหาโดยกระจ่างแจ้ง เมื่อได้วิธีที่ถูกต้องแล้วก็นำไปใช้ปฏิบัติให้ได้ผลด้วยความแน่วแน่และมั่นใจ" (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘)

พระองค์ทรงแนะนำวิธีการไว้สองประการสำหรับการประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ประการแรก การปรับทฤษฎีให้เข้ากับการปฏิบัติโดยจะต้องวิเคราะห์ปัญหาการปฏิบัติให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน นั่นหมายความว่าการเป็นจริงของการปฏิบัติเป็นหลักที่จะต้องยึดไว้และปรับทฤษฎีเข้าสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่ปรับการปฏิบัติเข้าสู่ทฤษฎี อีกประการหนึ่งคือการประสานกับทฤษฎีของวิชาอื่นๆ เข้าด้วยกันเพื่อช่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือความจริงที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น และนำไปสู่การได้หนทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเป็นผลสำเร็จ เมื่อการปรับทฤษฎีจะโดยวิธีใดก็ตามเกิดผลต่อการปฏิบัติจริง ผลแห่งการปรับทฤษฎีนั้นก็จะนำมาซึ่งความรู้ใหม่เพิ่มเติมขึ้นจากความรู้เดิมที่มีอยู่ให้พัฒนาสูงขึ้น ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการพัฒนาทฤษฎีหรือวิชาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายการสะสมความรู้นี้ว่า

"วิทยาการทุกอย่างมิใช่มีขึ้นในคราวหนึ่งคราวเดียวได้ หากแต่ค่อยๆสะสมกันมาทีละเล็กละน้อยจนมากมายกว้างขวาง การเรียนวิทยาการก็เช่นกัน บุคคลจำจะต้องค่อยๆเรียนรู้ให้เพิ่มพูนขึ้นนั้นเกิดเป็นรากฐานรองรับความรู้ที่สูงขึ้น ลึกซึ้ง กว้างขวางขึ้นต่อๆไป" (๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๙)

การพัฒนาองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำรินี้ แสดงให้เห็นว่าความรู้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง แต่หากเป็นการค้นพบของมนุษย์ และสะสมความรู้เหล่านั้นตามลำดับ จนเกิดการเติบโตขององค์ความรู้ เมื่อวิเคราะห์แนวพระราชดำรินี้ประการแรกจะเห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติและมนุษย์ที่ศึกษาเรื่องนั้นในธรรมชาติ ได้ค้นพบหลักเกณฑ์หรือแบบแผนบางประการของสิ่งนั้น จึงได้พัฒนาความรู้ของเรื่องนั้นขึ้นมาให้สามารถเรียนรู้ได้แก่บุคคลทั่วไป เช่นความรู้ว่าด้วยการรักษาต้นน้ำลำธาร ความจริงแล้ววิธีการรักษาต้นน้ำลำธารในธรรมชาตินั้นมีอยู่แล้วและมนุษย์ไปค้นพบวิธีการของธรรมชาติขึ้น จึงทำให้ได้ความรู้ของเรื่องดังกล่าวมา เป็นต้น ประการที่สองจะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า "สะสม" ความรู้ให้เพิ่มพูนขึ้นและ "เกิดเป็นรากฐานรองรับความรู้ที่สูงขึ้น" แสดงให้เห็นว่าความรู้ที่มีอยู่เดิมเป็นรากฐานให้แก่การพัฒนาความรู้ที่สูงขึ้นต่อไป การพัฒนาความรู้ ในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าระบบแห่งความรู้ที่สะสมกันมานั้นจะต้องเป็นระบบเดียวกัน กล่าวคือระบบหรือแบบแผนของความรู้เดิมกับความรู้ใหม่จะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กัน ไม่เช่นนั้นจะพัฒนาสะสมเพิ่มเติมขึ้นบนรากฐานเดิมไม่ได้ ถ้าจะเปรียบเสมือนการสร้างบ้าน การวางรากฐานของบ้าน เช่นเสาเข็ม คานพื้นบ้านเป็นต้น จะทำหน้าที่เป็นรากฐานให้สามารถก่อฝาผนังบ้านขึ้นไปจนถึงหลังคาได้ฉันใด ความรู้เดิมก็เปรียบเสมือนฐานรากให้แก่ความรู้ใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นไปฉันนั้น เพราะการศึกษาพื้นฐานของแต่ละเรื่องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป ถ้าความรู้พื้นฐานดี ก็จะช่วยให้สามารถศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้มากในทางกลับกันถ้าความรู้พื้นฐานไม่ดีหรือไม่แข็งแรงการศึกษาที่ระดับสูงขึ้นไปก็จะทำไม่ได้หรือได้น้อย การศึกษาที่จะช่วยให้เกิดพัฒนาองค์ความรู้นี้ พระราชกระแสตอนหนึ่งมีว่า "….หากไม่เรียนรู้กลไกของวิชาการโดยตลอดอย่างคล่องแคล่วเจนจัดแล้ว ก็ยากนักที่จะใช้วิชาการปฏิบัติให้ได้ผล" (๒ ตุลาคม ๒๕๑๘) คำว่า "กลไกของวิชาการ" ที่ทรงกล่าวถึงนี้คือระเบียบวิธีของการศึกษาที่ใช้เป็นเครื่องมือของการค้นหาความรู้จากความเป็นจริง ฉะนั้นการจะพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นระบบด้วยการสะสมความรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามที่กล่าวแล้วจึงต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับ "กลไกของวิชาการ" ช่วยเป็นเครื่องมือในการสะสมความรู้ให้เจริญงอกงาม กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำรินี้ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่นักศึกษาควรจะต้องเข้าใจให้ถึงแก่นแท้เพื่อจะได้น้อมนำมาใช้เป็นวิธีการศึกษาของตนโดนเฉพาะการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ให้สูงขึ้นต่อไป

จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าหลักการและวิธีการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงนั้น เริ่มต้นตั้งแต่หลักการพื้นฐานของการศึกษา กล่าวคือการศึกษาที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล และการใช้หลักของเหตุและผลนี้ศึกษาความเป็นจริง การศึกษานี้อาจเริ่มต้นได้จากการเรียนรู้ตามความคิดของผู้อื่น จากนั้นจะต้องเรียนรู้ด้วยการคิดพิจารณาด้วยตนเอง จนถึงการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จด้วยตนเอง การศึกษาตามแนวพระราชดำรินี้จะต้องมีวิธีการที่เป็นระบบและอาศัยการสะสมความรู้ทีละเล็กละน้อยเพิ่มพูนขึ้น จนพัฒนาองค์ความรู้ให้สูงขึ้นไปตามลำดับ ฉะนั้นการศึกษาที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์จะต้องมีหลักการและวิธีการที่ถูกต้องและเป็นระบบด้วยจึงจะนำพาความรู้ไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์ได้ โดยจะขออัญเชิญพระราชดำรัสตอนหนึ่งมาเป็นส่วนสรุปของเรื่องนี้ดังนี้

"วิชาความรู้อันพึงประสงค์นั้นได้แก่วิชาความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน แม่นยำ ชำนาญ นำไปใช้การเป็นประโยชน์ได้พอเหมาะพอควร ทันต่อเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ" (๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๓)




จากความหมายของการศึกษาที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อข้างต้นพอจะช่วยให้เข้าใจจุดหมายของการศึกษาตามแนวพระราชดำริได้ว่าการศึกษามีจุดหมายทั้งเพื่อประโยชน์แก่ผู้ศึกษาเองและแก่ส่วนรวมอันได้แก่สังคมและประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรุปวัตถุประสงค์ของการศึกษาว่า

"วัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นคืออย่างไรกล่าวโดยรวบยอดคือการทำให้บุคคลมีปัจจัยหรืออุปกรณ์สำหรับชีวิตอย่างครบถ้วนเพียงพอทั้งในส่วนวิชาความรู้ ส่วนความคิด วินิจฉัย ส่วนจิตใจและคุณธรรมความประพฤติ ส่วนความขยันอดทน และความสามารถในการที่จะนำความรู้ความคิดไปใช้ปฏิบัติงานด้วยตนเองให้ได้จริงๆเพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขความเจริญมั่นคง และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมืองได้ตามควรแก่ฐานะด้วย" (๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๓)

การศึกษาเพื่อให้บรรลุจุดหมายอันได้แก่ประโยชน์ของผู้ศึกษาเอง (ตนเอง) และส่วนรวม (สังคมและบ้านเมือง) นั้น การศึกษาทำหน้าที่เป็นปัจจัยหรือเครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดหมายดังกล่าว การศึกษาในความหมายนี้จะต้องประกอบด้วย ๔ ส่วนคือ
๑) ส่วนวิชาความรู้ ได้แก่วิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆที่ศึกษาอย่างถูกต้องครบถ้วน
๒) ส่วนความคิดวินิจฉัย ได้แก่ความสามารถของการขบคิดพิจารณาและวินิจฉัยในเรื่องที่ศึกษาและความเป็นจริงที่ปรากฏ ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการหรือกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของผู้ศึกษา
๓) ส่วนจิตใจและคุณธรรม ได้แก่การพัฒนาจิตใจให้มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจที่จะใช้วิชาความรู้เพื่อประโยชน์ในทาง ที่ดีต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งเป็นการกำกับความประพฤติของคนให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และ
๔) ส่วนความขยันอดทน ได้แก่การฝึกฝนให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันและมีความอดทนต่อปัญหาหรืออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุจุดหมายที่กำหนดไว้

องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการเพื่อช่วยให้สามารถบรรลุจุดหมายของการศึกษานี้ ย้อนกลับไปยืนยันความหมายของการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงไว้ดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อข้างต้น

การศึกษาเพื่อให้บรรลุจุดหมายดังกล่าวโดยเฉพาะประโยชน์ของประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่า

"งานของชาตินี้จะต้องอาศัยวิชาการทั่วทุกแขนง ต้องสัมพันธ์กันแล้วดำเนินพร้อมกันไปโดยสอดคล้อง จึงเป็นความจำเป็นที่แต่ละฝ่ายแต่ละคนจะต้องศึกษาเรียนรู้ถึงโครงการ และความประสานสัมพันธ์ของงานส่วนรวมให้กระจ่างชัด เพื่อสามารถมองเห็นจุดรวมของงานทั้งหมดและสามารถประสานงานและส่งเสริมกันได้อย่างถูกต้องตรงจุด งานของชาติจักได้สัมฤทธิ์ผล" (๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๐)

นั่นหมายความว่าการบรรลุถึงจุดหมายของการศึกษาอันได้แก่ประโยชน์ของประเทศชาติจะต้องอาศัยวิชาการหลายแขนงและยังจะต้องประสานวิชาการแขนงต่างๆนั้นให้สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ กล่าวคือจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับงานของประเทศชาติอันถือได้ว่าเป็นงานที่รวบยอดของงานอื่นๆทั้งหมดที่ปรากฏในระดับต่างๆหรือพื้นที่ต่างๆหรือด้านต่างๆของประเทศชาติจึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้ความรู้เพื่อบรรลุจุดหมายลักษณะเช่นนี้เป็นการมองจุดหมาย การศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์ของชาติ ซึ่งครอบคลุมทุกส่วนทุกด้านของประเทศชาติ ไม่ใช่จุดหมายเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะด้านเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือจุดหมายของการศึกษาตามพระราชดำรินี้เป็นจุดหมายในเชิงยุทธศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาที่จะช่วยให้บรรลุถึงจุดหมายดังกล่าวในอีกมิติหนึ่งว่า

ผู้ที่มุ่งหวังความดีและความเจริญมั่นคงในชีวิตจะต้องไม่ละเลยการศึกษา ความรู้ที่จะศึกษามี ๓ ส่วนคือ ความรู้วิชาการ ความรูปฏิบัติการและความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง อีกประการหนึ่งจะต้องมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจไม่ว่าในงาน ในผู้ร่วมงานหรือในการรักษาระเบียบแบบแผน ความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่างประการที่สามต้องฝึกฝนให้มีความหนักแน่นทั้งภายในใจ ในคำพูด" (๒๔ มกราคม ๒๕๓๐)

กล่าวคือความรู้จะต้องศึกษานั้นจะต้องประกอบด้วย ๑) ความรู้ในวิชาการและการปฏิบัติที่มีความถูกต้องและแจ่มแจ้งทั่วถึง ๒) ความรู้ในงานที่ปฏิบัติตั้งแต่วัตถุประสงค์ ขอบเขตจนถึงแนวทางปฏิบัติของงาน ซึ่งรวมถึงการฝึกฝนให้มีความจริงใจและบริสุทธิ์ต่องานและผู้ร่วมงาน และ ๓) ความรู้ในตนเองที่จะช่วยให้เกิดความอดทน หนักแน่นและมุ่งมั่นที่ปฏิบัติงานตามหลักแห่งวิชาจนบรรลุผลสำเร็จ ดังมีพระราชกระแสรับสั่งว่า "นอกจากวิชาความรู้ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัย และสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการทั้งความรู้รอบตัวและความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน" (๒๕ มีนาคม ๒๕๑๕)

นอกจากจุดหมายการศึกษาที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติแล้ว ในจุดหมายด้านวิชาการของการศึกษาที่ไม่ควรมองข้ามไปด้วย คือการพัฒนาความรู้ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก ดังที่กล่าวในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายถึงกระบวนการสะสมและพัฒนาความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ดังที่มีพระราชกระแสว่า "บุคคลจำจะต้องค่อยๆเรียนรู้ให้เพิ่มพูนขึ้นมาตามลำดับ ให้ความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นนั้นเป็นรากฐานรองรับความรู้ที่สูงขึ้น ลึกซึ้งกว้างขวางขึ้นต่อๆไป" (๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๙) นั่นหมายความว่าจุดหมายของการศึกษาอีกประการหนึ่งที่พระองค์ทรงแสดงให้ปรากฏคือ การพัฒนาองค์ความรู้ให้กว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น เมื่อมีองค์ความรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ย่อมจะทำให้อำนาจหรือขีดความสามารถของบุคคลที่จะใช้ความรู้มาปฏิบัติหน้าที่การงานให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและประเทศชาติมากขึ้นด้วยตามลำดับ ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าจุดหมายของการศึกษาอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาองค์ความรู้ให้สูงขึ้น

จุดหมายประการที่สามของการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงไว้คือ การพัฒนาศักยภาพของคนให้ปรากฏออกมาเพื่อจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป พระองค์ทรงอธิบายจุดหมายของการศึกษาในเรื่องนี้ดังนี้

"การให้การศึกษาคือ การให้คำแนะนำและส่งเสริมบุคคลให้มีความเจริญงอกงามในการเรียนรู้คิดอ่านและการทำตามอัตภาพของแต่ละคนโดยจุดประสงค์ในที่สุดคือ ให้บุคคลนำเอาความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่นอย่างสอดคล้อง และไม่ขัดแย้งเบียดเบียนแก่งแย่งกัน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศได้" (๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖)

แนวพระราชดำริที่ปรากฏให้เห็นคือ บุคคลแต่ละคนมี "ศักยภาพตามอัตภาพของแต่ละคน" ซึ่งศักยภาพของแต่ละคนนี้ยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็น หรือยังไม่สามารถนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวมได้ ดังนั้นการศึกษาจึงมีจุดหมายที่จะพัฒนา "ศักยภาพของบุคคล" ให้ปรากฏออกมาเพื่อใช้ให้เป็นประโยช์ต่อไปเปรียบเสมือนก้อนหินอ่อนมีศักยภาพ (คุณภาพ) ที่จะแกะสลักออกมาให้เป็นประติมากรรมชิ้นเอกที่มีคุณค่าและประโยชน์ ก้อนหินอ่อนนั้นจะไม่มีคุณค่าหรือประโยชน์ถ้ายังคงอยู่ในสภาพเป็นก้อนหินอ่อนตาม "อัตภาพ" (ธรรมชาติ) จนกว่าจะมีนักประติมากรรมมองเห็นศักยภาพของหินอ่อนก้อนนั้นและลงมือแกะสลักให้หินอ่อนก้อนนั้นออกมาเป็นรูปตามศักยภาพของมันฉันใด การศึกษาก็ทำหน้าที่คล้ายเช่นนักประติมากรรมที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคลตามอัตภาพของคนนั้นให้ปรากฏออกมาเป็นความรู้ความสามารถและจิตใจที่จะนำไปทำประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติฉันนั้น

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าจุดหมายของการศึกษาตามแนวพระราชดำริ พอจะสรุปได้เป็นสามประการที่สำคัญคือ

๑) การศึกษามุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้แก่บุคคลและสังคมส่วนรวมโดยเฉพาะประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดหมายสูงสุดของการศึกษา

๒) การศึกษามุ่งพัฒนาองค์ความรู้ให้ก้าวสูงขึ้นเพื่อจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของคนให้สูงขึ้นที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุจุดหมายในข้อแรกได้มากขึ้น และ

๓) การศึกษามุ่งพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลที่มีให้ปรากฏออกมาเป็นความสามารถที่จะก่อประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมส่วนรวมตามจุดหมายในข้อแรกเช่นกัน

จนถึงขณะนี้คงจะเป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การศึกษาตามแนวพระราชดำริไม่ใช่สิ่งที่สิ้นสุดในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือที่จะนำพาบุคคลและประเทศชาติไปสู่จุดหมายที่ดีงามเท่านั้น

การใช้ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาเพื่อนำไปสู่จุดหมายของตนเองและส่วนรวมที่ดีงามดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นความสำคัญของความรู้เชิงความประพฤติจะกำกับการใช้วิชาความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงเป็นอย่างมาก ดังนั้นการศึกษาเพื่อปลูกฝังคุณสมบัติสำคัญให้แก่ผู้มีวิชาความรู้จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการเรียนรู้เชิงวิชาการด้วย ทรงอธิบายคุณสมบัติที่กล่าวดังนี้

"ผู้ที่มีวิชาการแล้วจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง นอกจากวิชาความรู้ด้วย จึงจะนำตนนำชาติให้รอดและเจริญได้ คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ได้แก่ ความละอายชั่วกลัวบาปความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิดและการกระทำความกตัญญูรู้คุณชาติบ้านเมืองและผู้มีอุปการะตัวมา ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นหากแต่มีความจริงใจ มีความปรารถนาดีต่อกันเอื้อเฟื้อกันตามฐานะและหน้าที่ และที่สำคัญอย่างมาก ก็คือ ความขยันหมั่นเพียรพยายามฝึกหัดประกอบการงานทั้งเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ทอดธุระ เพื่อหาความสะดวกสบายจากการเกียจคร้าน ไม่มักง่าย หยาบคาย สะเพร่า" (๘ มิถุนายน ๒๕๒๒)

ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนคือบุคคลที่จะใช้วิชาความรู้เพื่อปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดหมายของการศึกษา จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญอันได้แก่ ๑) ความละอายชั่วกลัวบาป ๒) ความซื่อสัตย์สุจริต ๓) ความกตัญญูรู้คุณ ๔) ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ๕) ความจริงใจ ๖) ความปรารถนาดีและเอื้อเฟื้อต่อกัน และ ๗) ความขยันหมั่นเพียรซึ่งอาจสรุปได้ว่าคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนี้ จะช่วยกำกับให้ผู้มีความรู้ใช้วิชาความรู้เพื่อจุดหมายของการศึกษาในความหมายที่กล่าวนี้



บทสรุป

แนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการศึกษาที่อันเชิญมากล่าวในที่นี้จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา วิชาความรู้ และผลแห่งการใช้วิชาความรู้ในเชิงปฏิบัติกล่าวคือการศึกษาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล ฉะนั้นการศึกษาจึงไม่ใช่การกระทำหรือกิจกรรมที่สิ้นสุดในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่จุดหมายบางประการ การศึกษาในความหมายนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาความรู้ทั้งในทางวิชาการ (ทฤษฎี) และในทางธรรม (ปฏิบัติ) หมายความว่าการศึกษาจะต้องให้หลักแห่งวิชาการที่จะช่วยให้แนวทางการปฏิบัติบรรลุผล และให้ความรู้แห่งการปฏิบัติอันได้แก่การฝึกฝนปฏิบัติวิชาการในความเป็นจริงเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ นอกจากนี้ ทรงเน้นความหมายของการศึกษาในอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้เชิงวิชาการและการปฏิบัติเชิงวิชาการนั่นคือการศึกษาทางธรรมเพื่อปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม ตลอดจนคุณสมบัติต่างๆเพื่อเป็นเครื่องกำกับความคิดและความประพฤติให้การใช้วิชาความรู้เพื่อประโยชน์ในทางที่ดีต่อทั้งตนเองและส่วนรวมคือประเทศชาติ เพราะฉะนั้นการเข้าใจแนวพระราชดำริด้านการศึกษาจึงจะต้องเข้าใจความหมายของการศึกษาควบคู่กับจุดหมายของการศึกษาถ้าจะกล่าวให้ชัดเจน การศึกษาจะมีความหมายที่ไม่ถูกต้องตามแนวพระราชดำริ ถ้าการศึกษานั้นไม่นำไปสู่จุดหมายที่ดีงามต่อตนเองและประเทศชาติโดยส่วนรวม ซึ่งทำให้เข้าใจต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของส่วนบุคคลและส่วนรวม จะต้องสอดคล้องและสัมพันธ์กันจะแยกออกจากกันหรือขัดแย้งกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาตามแนวพระราชดำริจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ในตัวเอง

ความพยายามที่จะเข้าใจแนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการศึกษาดังที่แสดงให้ปรากฏข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวพระราชดำริด้านการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญ สมควรที่จะอันเชิญมาแสดงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในระดับต่างๆในเรื่องต่างๆตลอดจนในวาระต่างๆเพราะแนวพระราชดำริที่อัญเชิญมานี้สะท้อนถึงปรัชญาสำคัญของการศึกษาที่จะช่วยชี้นำให้การศึกษาทั้งปวงมีความถูกต้อง ครบถ้วนและสมบูรณ์ อีกทั้งสามารถนำไปสู่ผลสำเร็จของการใช้วิชาความรู้เพื่อการปฏิบัติต่างๆ และนำไปสู่จุดหมายที่ดีงาม และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม

ด้วยคุณค่าแห่งแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรที่ปวงประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะน้อมนำปรัชญาแห่งการศึกษาของพระองค์ มาใช้เพื่อเป็นหลักประกันที่จะช่วยกันธำรงรักษาไว้ซึ่งความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศชาติตลอดไป อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของแนวพระราชดำริที่ทรงเพียรพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ที่จะได้เข้าใจ และปฏิบัติตามตลอดรัชสมัยของพระองค์

         ที่มา    T h e P u b l i c R e l a t i o n s D e p a r t m e n t R e g i o n 3 C h i a n g M a i 
                    จัดทำและบริหารระบบ โดย ศูนย์สารสนเทศ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่
                             http://region3.prd.go.th/The_King/king_study_06.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น